ประวัติความเป็นมาสมาคม ECTI

สมาคม ECTI ได้จดทะเบียนในเดือน กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้

ในปี ๒๕๔๐ ที่งาน EECON-20 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม Sol Twin Towers ในกรุงเทพโดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ ท่านอดีตนายกสมาคม สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ได้รับทราบจาก ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว ว่าจะมีการจัดตั้งสมาคมวิศวกรรมไฟฟ้ากัน ท่านมีความรู้สึกดีใจมาก เพราะจะได้ช่วยกันผลักดันวิชาการในสาขาวิชานี้ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อจะได้เป็นแรงอีกแรงหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าต่อๆไป.

ต่อมาในปี ๒๕๔๔ ท่านอดีตนายกสมาคมได้มีโอกาสทำงานวิจัยกับเพื่อนอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ๕-๖ แห่ง ซึ่งมีการพบปะกันบ่อย อยู่มาวันหนึ่งการสนทนาก็ได้พาไปสู่เรื่องของสมาคม จึงได้มีการสอบถามหาข้อมูล โดยที่ ศ.ดร.วัลลภ สุรกำพลธร และอาจารย์อีกสองสามท่านรวมไปถึงตัวท่าน ได้เรียนถาม ศ.ดร. สมศักดิ์ และผู้อื่น ได้ทราบว่ายังไม่ได้ดำเนินการต่อในการจัดตั้งสมาคมแต่อย่างใด กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวจึงคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นพวกเขาน่าจะช่วยกันเป็นผู้ริเริ่ม จึงได้มีการรวบรวมรายชื่อผู้เริ่มก่อตั้งสมาคม รวม ๒๖ คน. และเมื่อประมาณเดือนกันยายน ๒๕๔๔ ท่านอดีตนายกสมาคมได้นำเรื่องไปยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมต่อที่ว่าการอำเภอคลองหลวง ซึ่งต้องส่งเรื่องถึงจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติตามลำดับ. และในที่สุดคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ออกใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ และนายทะเบียนจังหวัดปทุมธานีได้ออกใบสำคัญการจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕. เพื่อความสะดวก คณะสมาชิกก่อตั้งได้ตกลงกันว่าจะใช้ที่อยู่ของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) เป็นที่ตั้งสมาคมเป็นการชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

ที่มาของชื่อ ECTI มาจากการประชุมกับเหล่านักวิจัยในวงการวิศวกรรมไฟฟ้าได้ข้อสรุปว่าควรจะครอบคลุมสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับ IEEE กล่าวคือ ควรมีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าซึ่งมีทั้งไฟฟ้ากำลังและอิเล็กทรอนิกส์ สาขาคอมพิวเตอร์ สาขาสื่อสาร และสาขาสารสนเทศ เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Electrical Engineering, Electronics, Computer, Communications, and Information Technology หากใช้ตัวย่อก็จะเป็น EECCIT จึงมาประชุมกันว่าจะอ่านว่าอย่างไรดี อาจจะอ่านว่า อี๊กซิท ซึ่งออกเสียงยาก หรือจะอ่านว่า อีอีซีซีไอที ก็ดูจะยาวเกินไป เมื่อท่านอดีตนายกสมาคมได้มีโอกาสคุยกับ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการของเนคเทค ตามลำดับในขณะนั้น ดร. ทวีศักดิ์ เสนอว่าทำไมไม่ใช้ชื่อย่อว่า ECTI (Electronics, Computer, Telecommunications, and Information) ซึ่งเป็นสาขาที่เนคเทคเน้น และเริ่มเป็นที่รู้จักและติดปากของคนมากขึ้น อีกทั้งเนคเทคก็ไม่ได้สงวนตัวย่อนี้แต่อย่างใด. ท่านจึงได้ปรึกษากับผู้ร่วมบุกเบิกหลายคน ตกลงว่าจะใช้ตัวย่อ ECTI โดยที่ตัวย่อ E ให้แทนทั้ง Electrical Engineering และ Electronics ส่วนสาขาสื่อสารเปลี่ยนเป็น สาขาโทรคมนาคม ชื่อสมาคมจึงเป็น สมาคมวิชาการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศ (Electrical Engineering/Electronics, Computer, Telecommunications, and Information Technology Association) โดยเรียกย่อๆว่า ECTI Association (อ่านว่า อีซีทีไอ association) มาจนทุกวันนี้

กิจกรรมที่สมาคมจะจัดให้มีขึ้นนั้น เราตั้งใจว่าจะพยายามให้คล้ายกับ IEEE หรือ IEICE (ของประเทศญี่ปุ่น). กิจกรรมหลักๆจะมี การออกวารสารวิชาการซึ่งมีสองฉบับ คือ ECTI Transactions on Electrical Engineering, Electronics and Communications (ECTI-EEC) และ ECTI Transactions on Computers and Information Technology (ECTI-CIT) โดยตีพิมพ์บทความวิจัย และบทความประเมินเป็นภาษาอังกฤษ การจัดประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติ การอบรมทางวิชาการ และการจัดบรรยายพิเศษ เป็นต้น. นอกจากนี้ได้คุยกันตั้งแต่ต้นว่าจะออกนิตยสาร(เป็น hard copy หรือ email รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง) ที่มีเรื่องเบาสมองหน่อยและเป็นการส่งข่าวสารถึงสมาชิกด้วย โดยได้ทาบทามผู้ที่จะเป็นบรรณาธิการไว้ ซึ่งผ่านไปแล้วสองสามท่าน ปรากฎว่าแต่ละท่านติดงานเป็นจำนวนมากจึงไม่ได้เข็นออกมาสักที จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้แรงจากอาจารย์กิตติ์นิตยสารจึงได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

รายชื่อผู้ร่วมกันยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมฯ

  1. นายสวัสดิ์ ตันตระรัตน์
  2. นายวีระพันธุ์ มุสิกสาร
  3. นายโมไนย ไกรฤกษ์

รายชื่อผู้ร่วมลงนามริเริ่มการจัดตั้งสมาคมฯ

  1. นายกอบชัย เดชหาญ
  2. นายโกสินทร์ จำนงไทย
  3. นายชิดชนก เหลือสินทรัพย์
  4. นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล
  5. นายบรรลือ ศรีสุชินวงศ์
  6. นายบัณฑิต ทิพากร
  7. นายบุญเจริญ ศิริเนาวกุล
  8. นายประภาส จงสถิตย์วัฒนา
  9. นายประยุทธ อัครเอกฒาลิน
  10. นายปริญญา ตันตสวัสดิ์
  11. นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์
  12. นายมงคล รักษาพัชรวงศ์
  13. นายมนตรี กาญจนเดชะ
  14. นายโมไนย ไกรฤกษ์
  15. นางสาววัชรี วีรคเชนทร์
  16. นายวัลลภ สุระกำพลธร
  17. นายวีนัส ลิ่มเจริญ
  18. นายวีระพันธุ์ มุสิกสาร
  19. นายวุฒิพงศ์ อารีกุล
  20. นายศิริวัฒน์ พูนวศิน
  21. นายสมชาย จิตะพันธ์กุล
  22. นายสวัสดิ์ ตันตระรัตน์
  23. นายสินชัย กมลภิวงศ์
  24. นายเสถียร เตรียมล้ำเลิศ
  25. นายอนันต์ ผลเพิ่ม
  26. นายอำนวย สิทธิเจริญชัย